24 ม.ค. 2566
ร่วมกันจับกุม นางสาวฉัฎฐา ผู้ต้องหาตามหมายจับวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ซึ่งถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน
24 ม.ค.66 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง.บช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น ผกก.2 บก.ป., พ.ต.ท.สิงห์ชัยฐาน ไชยสิทธิ์ รอง ผกก.3 บก.ป.ปฏิบัติราชการ กก.2 บก.ป., พ.ต.ท.เนติวิทย์ ธนาสิทธิ์นิติกุล รอง ผกก.2 บก.ป., พ.ต.ท.ณธัชพงศ์ สินสิริยานนท์, พ.ต.ท.นพรัตน์ คำมาก รอง ผกก.2 บก.ปทส.ปฏิบัติราชการ กก.2 บก.ป.
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.กรพงศ์ วงษาลังการ สว.กก.2 บก.ป. และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 1 กก.2 บก.ป.
ร่วมกันจับกุม นางสาวฉัฎฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1389/2558 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ซึ่งถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกระทำความผิดการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ตามพระราชบัญญัติการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12, 15, พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5, 6, 25 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343, 83
จับกุม บริเวณอาคารแห่งหนึ่ง ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2558 ได้มีบริษัทแห่งหนึ่งชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมเครือข่าย การประกอบธุรกิจน้ำผลไม้และสมุนไพร และเครื่องสําอางผิวหน้า โดยทําให้หลงเชื่อว่าหากสามารถหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มได้จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน แต่ภายหลังกลับมีการหลอกลวงขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์ จําหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า U-TOKEN โดยอ้างว่าได้รับความนิยม และได้รับความยอมรับในต่างประเทศ ซึ่งทางเครือข่ายนี้จะโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนําเงินมาลงทุนในจํานวนที่สูง โดยโฆษณาชักชวนผ่านอินเทอร์เน็ตมีการลงทุน 2 แบบ คือ แบบที่ 1 เน้นซื้อ U-TOKEN (สกุลเงินสมมติ ที่ไม่มีอยู่จริง) และแบบที่ 2 เน้นซื้อสินค้า
แต่ภายหลังกลับพบว่า แม่ทีมหรือแกนนําที่ชักชวนไม่ได้กล่าวถึงสินค้าตามที่บริษัทฯ แจ้งจดทะเบียนขายตรงไว้ แต่กลับมุ่งเน้นขายสินค้าเพื่อให้เกิดรายได้จากยอดขายสินค้า อีกทั้งการบรรยายแต่ละครั้ง จะมุ่งเน้นเฉพาะแผนการพัฒนาการตลาดแบบขยายทีม หรือการหาสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และยังอ้างถึงผลตอบแทนที่สูงเป็นรถยนต์ หรือทองคําแท่ง ซึ่งเมื่อมีการหาสมาชิกรายใหม่เพิ่ม เข้ามาได้ ผลตอบแทนที่บริษัทนํามาจ่ายให้แก่สมาชิก ก็คือเงินของสมาชิกรายใหม่ที่นํามาจ่ายหมุนเวียนให้กับ สมาชิกรายเก่านั้นเอง
ภายหลังผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. ซึ่งเครือข่ายแชร์ลูกโซ่นี้พบว่่ามี ผู้ต้องหาร่วมกระทําผิดทั้งสิ้น 164 คน และศาลอาญาได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมดแล้ว โดยที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตํารวจ สามารถจับกุมผู้ต้องหาซึ่งทําหน้าที่เป็นแม่ข่ายและสมาชิกได้บางส่วน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราบสืบสวนทราบว่า นางสาวฉัฎฐาฯ หนึ่งในผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ยังหลบหนีอยู่ จึงรายงานให้ พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น ผกก.2 บก.ป. ทราบ และได้มีการสั่งการให้เร่งรัดติดตามตัวผู้ต้องหารายนี้ เนื่องจากคดีดังกล่าว สร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก และเป็นการกระทำความผิดกันในรูปแบบของขบวนการ
จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า ผู้ต้องหารายนี้ได้หลบหนีมาอยู่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และสามารถจับกุมตัว นางสาวฉัฎฐาฯ ได้บริเวณอาคารแห่งหนึ่ง ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาส่ง พนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สอบถามคำให้การเบื้องต้น ให้การปฏิเสธ
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนภัยประชาชน สำหรับการสร้างเรื่องราวการลงทุนทางธุรกิจ ที่อ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง ให้เน้นหาสมาชิกเพิ่ม หรือการเอาสิ่งของที่มีราคามาดึงดูดให้รวมลงทุน การลงทุนในลักษณะเช่นนี้ ไม่มีอยู่จริง โปรดอย่าหลงเชื่อคำชักชวนของเหล่ามิจฉาชีพ